พระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร กับมุทราสรณคมน์ยอดวิชาวัชรยาน

พระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร กับมุทราสรณคมน์ยอดวิชาวัชรยาน

 

 


 



หลายท่านคงได้เห็นได้ยินสื่อมวลชนบางสำนัก นำเสนอข่าว พิธีกรรมที่ครูบาบุญชุ่ม ท่านประกอบท่าทางการทำมือ เพื่อช่วยเหลือให้น้องๆทีมหมูป่าออกมาจากถ้ำ


สำหรับนักประวัติศาสตร์พุทธศาสนา อาจจะคุ้นเคยสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างดี เพราะพิธีกรรมนี้ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในสาย “โบราณกรรมฐาน” ที่เคยปฏิบัติกันมาเป็นพันปี โดยสืบทอดต่อกันมาในสายปฏิบัติแบบเร้นลับ ซึ่งทางวิชาการเรียกว่า Esoteric Southern Buddhism หรือ Tantric Theravada อันมีพระอุปคุต พระผู้ปราบมารในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นต้นกำเนิดแนวทางสายโบราณกรรมฐานนี้ด้วย

 


 


การค้นพบคัมภีร์โบราณจากถ้ำตุนหวงที่มีอายุราวพันปี ได้ยืนยันความเก่าแก่ของท่าทางการทำ “มุทราสรณคมน์” ที่ครูบาบุญชุ่มได้ปฏิบัติเป็นอย่างดี เพราะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันอย่างมาก ซึ่งท่ามุทรามีความหมายการให้ไตรสรณคมน์ ซึ่งจะช่วยปรกโปรดให้บุคคลพ้นความกลัวในภยันตรายได้


บางท่านอาจจะสงสัยว่า เหตุใดลักษณะการประกอบพิธีกรรมบางอย่าง เช่นการเป่าสังข์ การเดาะกลอง การทำมือแบบมุทธา การสวดมนต์และธารณี จึงมีความคล้ายคลึงกับของพระทิเบต สาเหตุก็เพราะพระอุปคุตเป็นปฐมาจารย์ผู้ให้กำเนิดนิกายสรวาสติวาท หรือ นิกายสัพพัตถิกวาท ที่พัฒนามาจากเถรวาท และต่อมาได้พัฒนาไปเป็นวัชรยานแบบทิเบต โดยปัจจุบันพระทิเบตก็ยังถือศีลของนิกายมูลสรวาสติวาท ที่พัฒนาต่อจากนิกายสรวาสติวาทนั่นเอง

 




สำหรับนิกายสรวาสติวาทนั้นจัดเป็นพุทธกระแสหลัก ที่เคยมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากให้แถบอินเดียภาคกลางและภาคเหนือโบราณ เอเชียกลาง (ปัจจุบันคือปากีสถาน อาฟกานิสถาน อิหร่านและพื้นที่ใกล้เคียง) โดยเฉพาะในยุคพระเจ้ากนิษกะ แห่งราชวงศ์กุษาณะนั้น นิกายนี้ได้รับการยกย่องและอุปถัมภ์จากราชสำนักให้เป็นพุทธกระแสหลักในยุคนั้น


ส่วนแนวคิดและวิธีปฏิบัติแบบเดียวกันนี้ ก็ยังเคยแพร่หลายในดินแดนเอเชียอาคเนย์ (คืออาเซี่ยนในปัจุบัน) ซึ่งคณะสงฆ์ยุคโบราณในดินแดนแถบนี้ได้รับการถ่ายทอดความรู้และการปฏิบัติส่งต่อกันมา โดยนักวิชาการเรียกกลุ่มผู้ปฏิบัติแบบนี้ว่า “โยคาวจร (Yogavacara)“ หรือที่ในพระไตรปิฏกเถรวาทใช้คำว่า “พระโยคาวจร”

 


 



ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมพิธีกรรมหลาย ๆ อย่าง จึงยังไม่คุ้นตาชาวพุทธไทยสมัยปัจจุบัน ซึ่งห่างเหินการศึกษาพระพุทธศาสนาแบบโบราณมานาน เพราะถูกอิทธิพลการปฏิรูปคำสอนใหม่ในยุครัตนโกสินทร์ช่วงกลางตอนต้น


นอกจากนี้ตัวครูบาเอง ยังเคยเดินทางไปศึกษาปฏิบัติกับพระวิปัสสนาจารย์หลายองค์ทั้งในประเทศไทย ต่างประเทศ รวมถึงในแถบภูเขาหิมาลัยมาแล้วด้วย


ดังนั้นการประกอบพิธีกรรม และการปฏิบัติกรรมฐาน ของครูบาบุญชุ่ม จึงจัดว่าเป็นพิธีกรรมที่ตกทอดมาแต่พุทธโบราณ ที่หาดูได้ยาก และไม่เป็นสาธารณะ ไม่มีการสอนแบบกันโดยทั่วไป ผู้ที่จะสอนและเรียนต้องมีบุญวาสนาจริงๆเท่านั้นถึงจะได้รับการถ่ายทอด


ด้วยเหตุนี้ คงมิเกินเลย หากจะกล่าวว่า น้องๆทีมหมูป่าชุดนี้ หน่วยซีล และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทุกคน รวมถึงชาวไทย โชคดีมากจริงๆ ที่ครูบาบุญชุ่มผู้ทรงคุณวิเศษ เมตตามาช่วยสงเคราะห์ในยามที่มีทุกข์ภัย ซึ่งยากที่จะแก้ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยี่สมัยใหม่เพียงอย่างเดียว
ท้ายที่สุดนี้ เราคงเห็นแล้วว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ได้หลอมรวม พุทธศาสน์ วิทยาศาสตร์ทางจิต และวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ให้สามารถไปด้วยกัน ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ได้อย่างกลมกลืน และนี่คือคุณูปการของพระพุทธศาสนาที่มีความหลากหลาย และเป็นที่พึ่งแก่ชาวโลกในยามทุกข์ยากได้จริง มานานกว่าสองพันห้าร้อยปีแล้ว

เรื่องโดย : กิตฺติปญฺโญ ภิกฺขุ

บรรณานุกรม


Beer, Robert. The Handbook of Tibetan Buddhist Symbols. Chicago; London: Serindia, 2003.
Crosby, H. Kate. “Tantric Theravada: A Bibliographic Essay on the Writings of Francois Bizot and Others on the Yogavacara Tradition.” Contemporary Buddhism 1, no. 2 (November 1, 2000): 141–98.
Crosby, H. Kate, Andrew Skilton, and Amal Gunasena. “The Sutta on Understanding Death in the Transmission of Borān Meditation from Siam to the Kandyan Court.” Journal of Indian Philosophy 40, no. 2 (2012): 177–198.
Prebish, Charles S. Buddhism: A Modern Perspective. Pennsylvania: Pennsylvania State University Press, 2010.
Strong, John S. The Legend and Cult of Upagupta: Sanskrit Buddhism in North India and Southeast Asia. Princeton: Princeton University Press, 2017.
Footnotes

------

ความคิดเห็น